TPIPLโชว์กำไรปีนี้เติบโต พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตอีก 3ปี
"ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" ยิ้มกว้าง ปลื้มกำไรปีนี้เติบโตตามยอดขายพุ่ง บวกราคาปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น ส่วนไตรมาส 2/2553 กำไรมากกว่า 677 ล้านบาท พร้อมแผนการเพิ่มการผลิต
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทีพีไอโพลีน(TPIPL) ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของไทย เปิดเผยว่า กำไรสุทธิ ทั้งปี 53 ดีกว่าปีที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 4.76 พันล้านบาท เนื่องจากปีนี้ปริมาณขายเติบโต ขณะที่บริษัทจะทยอยปรับขึ้นราคาขายปูนซีเมนต์ อีก 200-300 บาท/ตัน ในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยใช้เงิน ลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท
โดยแนวโน้ม กำไรสุทธิในไตรมาส 2/53 จะดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก ที่มีกำไรสุทธิ 676.98 ล้านบาท เนื่องจาก เริ่มมีโครงการไทยเข้มแข็งเข้ามา แต่ยอมรับว่าต้นทุนวัตถุดิบถ่านหินสูงขึ้น ซึ่งบริษัทคง ทยอยปรับราคาขายปูนซีเมนต์ขึ้นอีก 200-300 บาท/ตัน จากที่ผ่านมาปรับไปแล้วประมาณ 150 บาท/ตัน
"กำไรปีนี้ คิดว่าน่าจะดีกว่าปีก่อนนิดหน่อย เพราะโรงแยกขยะเสร็จ การลงทุนใน โรงไฟฟ้าจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้อีกประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี และปุ๋ย ก็เริ่มขายสิ้นปีนี้"
สำหรับแนวโน้มการใช้ปูนซีเมนต์เติบโตขึ้น ขณะนี้บริษัทใช้กำลังการผลิตเต็ม 100% ที่ประมาณ 9 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นการขายในประเทศประมาณ 70% และส่งออกประมาณ 30% และมองว่าโครงการไทยเข้มแข็ง จะทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีมากขึ้น สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าที่ทำไปแล้ว 40 เมกะวัตต์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ประมาณ 600 ล้านบาท/ปี และมีแผนจะเพิ่มอีก 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ด้านการลงทุนในโรงแยกขยะ คาดว่าเสร็จภายในไตรมาส 4/53 และจะนำขยะดังกล่าวไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และขายในไตรมาส 4
อย่างไรก็ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับ 2 ธนาคาร คือ ธ.กรุงเทพ ประมาณกว่า 1 พันล้านบาท และดอยช์แบงก์ ประมาณ 2 พันล้านบาท คาดว่า จะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยจะยืดหนี้ออกไปประมาณ 4-5 ปี อัตราดอกเบี้ยประมาณ MLR ลบ 2%
ด้านนายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารการเงิน TPIPL กล่าวว่า ครึ่ง ปีแรก ปริมาณการขายปูน โต 10-20% แต่รายได้โตประมาณ 5% เนื่องจากราคาขายไม่ค่อยดี แต่อัตรากำไรขั้นต้นเติบโต 10-20% โดยมีปริมาณการขายแต่ละเดือนประมาณ 7.5 แสนตัน ทั้งนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตปูนเป็นไลน์ที่ 4 เป็นกำลังการผลิต 12 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่ 9.1 ล้านตัน/ปี เพื่อทดแทนการนำเข้าปูน จากต่างประเทศ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแหล่ง เงินลงทุนที่จะนำมาใช้ ซึ่งไม่ใช้เงินสดทั้งหมด
สำหรับการลงทุนในโรงแยกขยะและปุ๋ย ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ใช้เงินลงทุนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท เป็นเงินสดทั้งหมด ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน แต่ในปีหน้าจะเริ่ม รับรู้รายได้ในส่วนนี้ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้รายได้เติบโต 10-20% และโรงขยะจะถึงจุดคุ้มทุน ใน 4-5 ปี
ขอบคุณข้อมูลจากทันหุ้น

0 ความคิดเห็น